

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คณะศิลปศาสตร์
สาขาวิชาจิตวิทยา
ถ้าเขาจะรัก ยืนเฉยๆ เขาก็รัก
20/08/2564

ในช่วงที่ผ่านมา เราอาจได้ยินข่าวเกี่ยวกับนักแสดงชายคนหนึ่งตกเป็นจำเลยในคดีฆาตกรรมแฟนสาวของตนด้วยการแทงกว่า 20 แผล (โหนกระแส (Hone-Krasae) Official, 2564, สิงหาคม 6) ซึ่งแค่ได้ยินข่าวนี้ คุณอาจจะรู้สึกถึงความโหดเหี้ยมและดูเหมือนขาดมนุษยธรรมเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันกลับมีกลุ่มแฟนคลับของจำเลยได้ออกมาโพสต์และคอมเมนต์ให้กำลังใจกันอย่างมากมาย เช่น “เขาไม่ไหว คุมไม่อยู่จริงๆ เลยฆ่า พี่เขาคงไม่อยากทำหรอก” หรือ “สู้ ๆ ค้าบคนเก่ง จะรักและซัพพอร์ตเสมอไป” หลายคนได้ยินหรือได้เห็นแล้วก็คงรู้สึกเกิดคำถามมากมายในใจ
ตามปกติแล้ว คนเราควรจะมีความรู้สึกไม่ดีต่อจำเลยมากกว่าที่จะมาให้กำลังใจกันแบบนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วพฤติกรรมของเหล่าแฟนคลับในลักษณะดังกล่าวสามารถอธิบายในเชิงจิตวิทยาได้ ไม่ว่าจะเป็น Halo Effect ที่อธิบายว่าเมื่อรับรู้คุณลักษณะของบุคคลด้านใดด้านหนึ่งในทางบวก ก็จะมีแนวโน้มที่จะเชื่อมโยงว่าบุคคลนั้นมีคุณลักษณะอื่นๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย (ดวงกมล ทองอยู่, 2559; Nevin & Keim, 2005; Thorndike, 1920) ซึ่งความมีเสน่ห์ดึงดูดทางกาย (Physical Attractiveness) หรือความหน้าตาดีถือเป็นคุณลักษณะเชิงบวกอย่างหนึ่งที่อาจทำให้เรารับรู้คุณลักษณะอื่นๆ ของบุคคลนั้นเป็นไปในทางบวกด้วย เช่น เข้ากับผู้อื่นได้ดี มีทักษะทางสังคม เป็นมิตร เป็นที่ชื่นชอบ เป็นคนเปิดเผย เป็นต้น (Langlois et al, 2000) ดังนั้น ในกรณีนี้ Halo Effect อาจทำให้แฟนคลับบางคนเกิดอคติหรือความลำเอียง (Bias) และถูกรัศมีความหล่อของเขาบดบังความผิดพลาดไปเสียหมด ดั่งคำกล่าวที่ว่า หน้าตาดีมีชัยไปกว่าครึ่ง หรือ คนหน้าตาดีทำอะไรก็ไม่ผิด นั่นเอง ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีการศึกษาค้นพบอีกว่าความหน้าตาดีมีพลังอำนาจมากกว่าที่คุณคิด โดยความมีเสน่ห์ดึงดูดทางกายนั้นสัมพันธ์กับการตัดสินโทษที่ผ่อนผันหรือลดหย่อนกว่าปกติอีกด้วย (e.g., Efran, 1974; Sigall & Ostrove, 1975; Stewart, 1980, 1985) เรียกได้ว่า ถ้าหน้าตาดี ก็มีแนวโน้มที่ได้รับการตัดสินโทษน้อยลงนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม อคติหรือความลำเอียงที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดจากความหน้าตาดีไปเสียทุกครั้ง แต่มันอาจเกิดจากความไม่สอดคล้องทางการรู้คิด (Cognitive Dissonance) กล่าวคือเมื่อเราเผชิญกับข้อมูลหรือสถานการณ์ที่ขัดแย้งกันจะทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดีขึ้น และเพื่อที่จะลดความรู้สึกไม่ดีเหล่านี้ เราจึงเปลี่ยนเจตคติเพื่อให้สอดคล้องกัน หรือหลีกเลี่ยงข่าวสาร/สถานการณ์ที่จะทำให้ความไม่สอดคล้องเพิ่มขึ้น หรือแม้กระทั่งหาเหตุผลหรือข้ออ้างมาสนับสนุนเพื่อให้คงเจตคติเดิมต่อไป (ธีระพร อุวรรณโณ, 2562; Festinger, 1957; Kitayama & Tompson, 2015) นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับอคติเชิงยืนยัน (Confirmation Bias) ที่มักจะเลือกค้นหาข้อมูลที่สอดคล้องกับความเชื่อดั้งเดิม และละเลยข้อมูลที่ค้านความเชื่อดั้งเดิม (Trope & Thompson, 1997) ดังเช่นจากข่าวที่ยกมาเป็นกรณีศึกษา กลุ่มแฟนคลับอาจจะเกิดความขัดแย้งระหว่างความประทับใจที่มีต่อนักแสดงชายและข้อมูลพฤติกรรมอันเลวร้ายที่เกิดขึ้น ทำให้พวกเขาเลือกที่จะหาข้อมูลมายืนยันความประทับใจที่มี และพยายามปิดกั้นหรือละเลยการรับรู้ข่าวการฆาตกรรมแฟนสาวที่อาจจะหักล้างความเชื่อเดิมนั่นเอง นอกจากนี้ ในระยะเริ่มต้นที่ได้รู้จักอีกฝ่าย พวกเขาอาจเกิดความประทับใจตั้งแต่แรกเห็น ซึ่งมีอิทธิพลต่อความประทับใจอย่างยาวนาน (Bar et al., 2006) จนเกิดคำกล่าวเกี่ยวกับความประทับใจแรกพบว่าทำให้บุคคลมีแนวโน้มจะใส่ใจและจดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้ในครั้งแรก ที่เรียกว่า ผลเสนอแรก (Primacy Effect) (Anderson, 1965) นี่จึงอาจเป็นเหตุผลว่าเมื่อเกิดความประทับใจแรกพบแล้ว สิ่งที่รับรู้ในภายหลังก็ไม่สามารถหักล้างหรือลบล้างความรู้สึกดีๆ ที่มีอยู่ในใจได้
และอย่างที่รู้กันแหละครับ ความหน้าตาดีก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีพลังอำนาจทำให้เกิดอคติบังตา แต่ก็มีอีกหลายสถานการณ์ที่มีเรื่องอคติมาเกี่ยวข้องโดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับความมีเสน่ห์ดึงดูดทางกายเลย ทำให้เรารู้ว่าอคติคือธรรมชาติของมนุษย์ ของแบบนี้ “ถ้าเขาจะรัก ยืนเฉยๆ เขาก็รัก” จริงไหมล่ะ แม้ว่า “ทั้งที่ผิดก็ยังรัก” “ฉันก็รักของฉัน เข้าใจบ้างไหม” แต่ถึงอคติจะเป็นเรื่องธรรมชาติ เราก็ควรรู้เท่าทันว่าอคติอาจทำให้การรับรู้บิดเบือนหรือผิดพลาด เวลาจะพิจารณาหรือตัดสินใครหรือเรื่องอะไร ก็ควรมีสติไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนและลดอคติให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
อ้างอิง
ดวงกมล ทองอยู่. (2559). การรับรู้ทางสังคมกับความเป็นจริงทางสังคม: ความต่างที่พึงระวัง. วารสารวไลยอลงกรณ์ปริทัศน์ (มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์), 6(1), 139-149.
ธีระพร อุวรรณโณ. (2562, พฤศจิกายน 20). จิตวิทยาของการไม่สอดคล้องด้านการรู้คิด. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. http://legacy.orst.go.th/wp-content/uploads/2019/12/จิตวิทยาของความไม่สอดคล้องด้านการรู้คิด-After-Presentation-Edited-621121-Pdf.pdf
โหนกระแส (Hone-Krasae) Official. (2564, สิงหาคม 6). ดาราหนุ่มแทงแฟนสาวร่างพรุน 20 แผล ดับคาบ้านพัก l EP.1006 l 6 ส.ค.64 l#โหนกระแส [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=nM8ieLibbEg
Anderson, N. H. (1965). Primacy effects in personality impression formation using a generalized order effect paradigm. Journal of Personality and Social Psychology, 2(1), 1-9.
Bar, M., Neta, M., & Linz, H. (2006). Very first impressions. Emotion, 6, 269-278.
Efran, M. G. (1974). The effect of physical appearance on the judgment of guilt, interpersonal attraction, and severity of recommended punishment in a simulated jury task. Journal of Research in Personality, 8(1), 45-54.
Festinger, L. (1957). A theory of cognitive dissonance. Row Peterson.
Kitayama, S., & Tompson, S. (2015). A biosocial model of affective decision making: Implications for dissonance, motivation, and culture. In Advances in experimental social psychology (Vol. 52, pp. 71-137). Academic Press.
Langlois, J. H., Kalakanis, L., Rubenstein, A. J., Larson, A., Hallam, M., & Smoot, M. (2000). Maxims or myths of beauty? A meta-analytic and theoretical review. Psychological Bulletin, 126, 390-423.
Nevin, J. B., & Keim, R. (2005). Social psychology of facial appearance. In Biomechanics and esthetic strategies in clinical orthodontics (pp. 94-109). WB Saunders.
Sigall, H., & Ostrove, N. (1975). Beautiful but dangerous: effects of offender attractiveness and nature of the crime on juridic judgment. Journal of Personality and Social Psychology, 31(3), 410.
Trope, Y., & Thompson, E. P. (1997). Looking for truth in all the wrong places? Asymmetric search of individuating information about stereotyped group members. Journal of Personality and Social Psychology, 73(2), 229-241.
ผู้เขียน

เอกวุฒิ โตชูวงศ์
นักศึกษาสาขาวิชาจิตวิทยา
ผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ เกมสร้างเมือง และนิยายแฟนตาซี

สุรกิจ คุณขยัน
นักศึกษาสาขาวิชาจิตวิทยา
ผู้ที่หลงใหลในการกินและการนอน สนใจด้านนิติจิตวิทยาแต่ไม่ได้เรียน มีคติประจำใจ “โกรธคือโง่ ปีโป้แกะยาก”

พัฒนกิจ ชอบทำกิจ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม
นอกจากเรื่องวิชาการที่สนใจพฤติกรรมมนุษย์ในสังคมแล้ว ยังลุ่มหลงในวัฒนธรรมอาหารการกินและเสาะแสวงหาของกินต่างถิ่นในทุกการเดินทาง
ออกแบบกราฟิก

วสิษฐ์พล ตั้งสถาพรพันธ์
นักศึกษาสาขาวิชาจิตวิทยา
ผู้ชื่นชอบในการเล่นเกม และหมดเงินไปกับเกมหลายบาทแล้ว หากท่านใดต้องการสนับสนุน สามารถร่วมบริจาคได้ที่เลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x